วันศุกร์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก : WMO

องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก

WMO - WORLD METEOROLOGICAL ORGANIZATION

สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงเจนิวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ โดยที่อุตุนิยมวิทยาเป็นงานระหว่างประเทศ เนื่องจากกระแสอากาศเคลื่อนที่ได้ระยะทา้งเป็นพันๆกิโลเมตร ดังนั้นการตรวจเฝ้าติดตามลมฟ้าอากาศต้องกระทำเป็นบริเวณกว้างในเวลาเดียวกัน กล่าวคือต้องทำการตรวจพร้อมกันทุกแห่งทั่วโลกเพื่อที่ีี่จะวิเคราะห์อากาศได้อย่างถูกต้องการรวบรวมและกระจายผลการตรวจอากาศจำนวนมากมายเช่นนี้จะต้องมีการรับผิดชอบและจัดการร่วมกัน มีการทำข้อตกลงเกี่ยวกับเวลาทำการตรวจวัดหน่วยที่ใช้รหัสอุตุนิยมวิทยาวิธีการต่างๆเกี่ยวกับการรับและกระจายข่าวอากาศ ตลอดจนค้นคว้าเทคนิคแผนใหม่ๆร่วมกัน ด้วยสาเหตุนี้ก่อนสงครามโลกครั้งที่สองได้มีการจัดตั้งองค์การอุตุระหว่างประเทศ (INTERNATIONAL METEOROLOGICAL ORGANIZATION) เพื่อประสานงานอุตุนิยมวิทยาแต่ละประเทศ ต่อมา พ.ศ.2490 ได้มีการประชุมหัวหน้าหน่วยบริการอุตุนิยมวิทยาประเทศต่างๆ ณ กรุงวอชิงตัน ประเทศต่างๆเหล่านี้ได้ร่วมกันก่อตั้งองค์การอุตุนิยมวิทยาโลกขึ้นและได้มีอนุสัญญาว่าด้วยอุตุนิยมวิทยาโลกเป็นหลักดำเนินการ อนุสัญญานี้ใช้บังคับตั้งแต่ 23 มีนาคม พ.ศ.2491 ประเทศไทยได้ร่วมเป็นภาคีในอนุสัญญา 23 มีนาคม 2493

องค์การอนามัยแห่งโลก : WHO

องค์การอนามัยแห่งโลก-ดับเบิลยูเอชโอ
(World Health Organization-WHO)

ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๑ (ค.ศ. ๑๙๔๙) วันที่ ๗ เมษายน ซึ่งต่อมาได้กำหนดให้เป็นวันอนามัยโลก องค์การนี้มีสมาชิก ๑๘๓ ประเทศ มีวัตถุประสงค์หลักคือ ช่วยให้ทุกคนในโลกมีสุขภาพดีที่สุดเท่าที่สามารถทำได้ ภารกิจสำคัญ คือเป็นผู้ประสานงานเกี่ยวกับสุขภาพของประเทศต่างๆทั่วโลก มีวิธีการดำเนินงานคือ มีการประชุมใหญ่ระดับโลก มีคณะกรรมการบริหารและสำนักงานเลขาธิการ

เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๐ ที่ประชุมใหญ่ได้กำหนดว่า ใน พ.ศ. ๒๕๔๓ (ค.ศ. ๒๐๐๐) ทุกคนในโลกจะมีสุขภาพดี (Health for All by the Year 2000) ตั้งแต่ปีนั้นมาองค์การได้กำหนดแผนงานและโครงการทั่วโลกเพื่อให้บรรลุเป้าหมายยุทธศาสตร์ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกประเทศ คือ การจัดให้มีการบริการสาธารณสุขมูลฐาน มีกิจกรรมเพื่อส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การบำบัดโรค และการฟื้นฟูสุขภาพ

องค์การมีสำนักงานภูมิภาคแปซิฟิกตะวันตกภูมิภาคเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออก ภาคพื้นยุโรปและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งอยู่ที่อาคารอนามัยโลก อินทรปริสต์สถาน(IndraprasthanEstate) ถนนมหาตมคันธี นิวเดลี ๑๑๐-๐๐๒ อินเดีย โทรศัพท์ (๙๑-๑๑) ๓๓๑-๗๘๐๔ โทรสาร (๖๑-๑๑) ๓๓๑-๘๖๐๗ องค์การที่ได้ทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญสดุดีแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ คือ

๑. องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญเซเรส (Ceres) เมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๒ เฉลิมพระเกียรติในฐานะที่ทรงเป็นสตรีดีเด่น ทรงอุทิศพระองค์เพื่อพัฒนาสตรีและประชาชนในชนบท ทรงสนับสนุนพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการที่จะพระราชทานโอกาสให้บรรดาเกษตรกรเป็นเจ้าของที่ดินทำกินอย่างทั่วถึง

๒. องค์การการศึกษาฯ สหประชาชาติ ทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญทองโบโรพุทโธ (Unesco Borobudur Gold Award) เมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๕ ในพิธีเปิดงาน "มรดกสิ่งทอเอเชียหัตถกรรมและอุตสาหกรรม" จัดโดยองค์การยูเนสโก ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในวโรกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา ๖๐ พรรษา เป็นเครื่องแสดงความรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเพื่ออนุรักษ์ พัฒนางานศิลปหัตถกรรมของไทยมากกว่า ๔๐ ปี รวมทั้งที่ได้ทรงยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนผู้ยากไร้ให้มีอาชีพ และมีชีวิตที่มีคุณภาพ

๓. กองทุนสหประชาชาติเพื่อสงเคราะห์เด็ก ทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญพิเศษ คือ Unicef Special Recognition Award เมื่อวันที่ ๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ เหรียญนี้มีข้อความสลักว่า "ทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องจากได้ทรงสนพระทัยอย่างลึกซึ้ง และทรงอุทิศพระองค์ในการเพิ่มพูนคุณภาพชีวิตของแม่และเด็กในประเทศไทย" เป็นเหรียญซึ่งเคยมอบให้องค์การ แต่ไม่เคยมอบให้บุคคลมาก่อน


๔. กองทุนสหประชาชาติเพื่อพัฒนาสตรี เมื่อวันที่ ๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ ได้ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลที่มีชื่อว่า Unicem Award of Excellence รางวัลแห่งความเป็นเลิศจากยูนิเซม รางวัลยูนิเซม เป็นชามแก้วเจียระไน สลักข้อความบนฐานไม้ว่า รางวัลดีเด่น ทูลเกล้าฯ ถวายแด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมุ่งมั่น สนับสนุนบทบาทสตรีในการพัฒนาประเทศ

สหพันธ์การไปรษณีย์สากล : UPU


สหพันธ์การไปรษณีย์สากล-ยูพียู
(Universal Postal Union-UPU)

ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๗ (ค.ศ. ๑๘๗๔)โดยสนธิสัญญาแห่งกรุงเบิร์น (Berne Treaty) เข้าเป็นองค์การในเครือสหประชาชาติเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๑ (ค.ศ. ๑๙๔๘)

มีวัตถุประสงค์ในการเพิ่มพูนประสิทธิภาพการรับส่งทางไปรษณีย์ของประเทศสมาชิก ส่งเสริมความร่วมมือในกิจการไปรษณีย์ทุกอย่าง รัฐสมาชิกตกลงว่าจะใช้วิธีการทางไปรษณีย์ที่ดีที่สุดในประเทศเพื่อการรับส่ง

สหพันธ์ฯ เป็นผู้กำหนดอัตราค่าไปรษณีย์กำหนดเป็นน้ำหนัก และขนาดหีบห่อที่จะส่งทางไปรษณีย์ กำหนดระเบียบและหลักเกณฑ์ในการลงทะเบียนสิ่งของที่ส่งทางไปรษณีย์ สหพันธ์ฯ ให้ความร่วมมือทางวิชาการในการวางแผนบริหารและปฏิบัติงานด้านไปรษณีย์ จัดฝึกอบรมบุคลากร ให้ความช่วยเหลือต่างๆ ในด้านนี้ได้ช่วยประเทศที่กำลังพัฒนาในด้านเศรษฐกิจสังคมและวัฒนธรรมอย่างมาก

ศูนย์ฝึกอบรมด้านไปรษณีย์ในภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก ตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานคร โดยได้รับความช่วยเหลือจากแผนงานพัฒนาของสหประชาชาติ

สำนักงานภาคพื้นตั้งอยู่ที่ ชั้น ๒ ของอาคารไปรษณีย์และโทรเลข ๙๙ ถนนแจ้งวัฒนะ ดอนเมือง ตู้ไปรษณีย์ ๑ หลักสี่ กรุงเทพมหานคร ๑๐๒๑๐ โทรศัพท์ (๖๖๒) ๕๗๓-๓๘๓๑ โทรสาร (๖๖๒) ๕๗๓-๑๑๖๑

องค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ : UNIDO

องค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติยูนิโด
(The United Nations Industrial Develop-ments Organization-UNIDO)

ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๙ (ค.ศ. ๑๙๖๖) ในฐานะหน่วยงานหนึ่งขององค์การสหประชาชาติเพื่อเร่งรัดการพัฒนาอุตสาหกรรม ต่อมาใน พ.ศ. ๒๕๒๙ (ค.ศ. ๑๙๘๖) ได้ยกฐานะเป็นองค์การนิติบุคคลตามกฎหมาย เป็นองค์การชำนัญพิเศษเฉพาะเรื่อง

ยูนิโด รับผิดชอบในการประสานงานกิจกรรมด้านอุตสาหกรรมของหน่วยงานและองค์การในเครือสหประชาชาติ มีแผนงานหลากหลายเพื่อให้ความช่วยเหลือทางวิชาการ จัดฝึกอบรม ให้ข้อมูลข่าวสาร วางแผนทางเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมระหว่างประเทศ อุตสาหกรรมของประเทศที่กำลังพัฒนา อำนวยความสะดวกในการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากประเทศอุตสาหกรรมไปสู่ประเทศที่กำลังพัฒนา

มีโครงการช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนารวม ๑๖๐ ประเทศ เป็นโครงการกว่าหมื่นโครงการจัดส่งผู้เชี่ยวชาญไปช่วยเหลือ ให้เครื่องจักรและอุปกรณ์ ให้ทุนการศึกษาและดูงาน จัดทำโครงการนำร่อง ดำเนินการวิจัยเพื่อความเป็นไปได้ในการจัดตั้งโรงงานอุตสาหกรรมประเภทใดประเภทหนึ่ง ส่งเสริมอุตสาหกรรมหนัก อุตสาหกรรมขนาดกลาง และขนาดเล็กให้เหมาะสมกับแต่ละประเทศ จัดพิมพ์เผยแพร่ข้อมูลและความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีล่าสุดทางอุตสาหกรรม จัดทำทำเนียบนามผู้เชี่ยวชาญในด้านอุตสาหกรรมทั่วโลก

สำนักงานยูนิโด ในประเทศไทย ตั้งอยู่ ณ อาคารสหประชาชาติ ถนนราชดำเนิน กรุงเทพมหานคร ๑๐๒๐๐โทรศัพท์ (๖๖๒) ๒๘๘-๐๒๙๘, ๒๘๘-๑๘๑๖, ๒๘๘-๑๘๒๖ โทรสาร (๖๖๒) ๒๘๐-๑๘๖๒

องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ : UNESCO

องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ-ยูเนสโก
(The United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization= UNESCO)

องค์การยูเนสโก ตั้งขึ้นเพื่อเป็นกำลังช่วยเหลือภารกิจขององค์การสหประชาชาติในการธำรงไว้ซึ่งสันติภาพที่มั่นคงและยืนนาน แก้ไขปัญหาและจุดอ่อนที่เป็นสาเหตุให้เกิดความขัดแย้งและสงครามทำลายล้าง รวมพลังกลุ่มบุคคลด้านพุทธิปัญญา วัฒนธรรม นันทนาการศิลปะ การศึกษา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ เพื่อสร้างเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างกัน ร่วมมือกัน แม้ว่าจะแตกต่างกันโดยเชื้อชาติ ภาษา สังคม วัฒนธรรมและระดับการศึกษา ดังนั้น ภายในหนึ่งปีหลังจากการสถาปนาองค์การสหประชาชาติ ผู้นำประเทศฝ่ายสัมพันธมิตรผู้ชนะสงครามก็ได้ตกลงกันในที่ประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการที่กรุงลอนดอน เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๙ (ค.ศ. ๑๙๔๖) ให้จัดตั้งองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมขึ้น

วัตถุประสงค์ของยูเนสโก คือ การส่งเสริมความรู้ความเข้าใจร่วมกันระหว่างชาติต่างๆ ให้ยอมรับระบบสังคมวัฒนธรรม ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ แนวคิด และผลงานทางศิลปะของกันและกัน ขจัดความไม่รู้ในวิถีชีวิตของคนอื่นๆ เนื่องจากความไม่รู้นี้เป็นตัวการในการก่อให้เกิดความเกลียดชัง ความอยุติธรรม และสงครามระหว่างประเทศในที่สุด

ภารกิจหลักของยูเนสโกครอบคลุมการส่งเสริมด้านการศึกษา พัฒนาการด้านวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์มนุษยศาสตร์ วัฒนธรรมและการสื่อสาร เพื่อประโยชน์ของประเทศสมาชิก

โครงการหลักในเรื่องดังกล่าวเป็นโครงการเสริมความคิด ความรู้สติปัญญาและเป็นการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม ยูเนสโกจัดลำดับเรื่องสำคัญที่จะมุ่งเน้นกิจกรรมใน ๓ ด้าน คือ ๑) การศึกษาพื้นฐานสำหรับทุกคนในโลก อย่างน้อยในระดับประถมศึกษา ขจัดความไม่รู้หนังสือ จัดบริการการศึกษาแก่ผู้ใหญ่ที่จบชั้นประถมศึกษาแล้ว ส่งเสริมการศึกษาต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ด้อยโอกาส สตรี เด็ก ชนกลุ่มน้อย คนยากจนทั้งในเมืองและชนบท ส่งเสริมการพัฒนาวิธีการใหม่ๆ ในการให้การศึกษา ๒) ปรับปรุงคุณภาพการศึกษาและการศึกษาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เพื่อให้มีสิ่งแวดล้อมที่ดีอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ๓) อำนวยความสะดวกในการร่วมมือเพื่ออนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมอันล้ำค่า แผนงานนวัตกรรมการศึกษาเพื่อพัฒนา (Programme of Educational Innovation for Development - APEID) เป็นตัวอย่างแผนงานสำคัญแผนหนึ่งของสำนักงานใหญ่ในภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก แผนงานนี้มุ่งเน้นการขจัดความยากจน ส่งเสริมคุณธรรม ขจัดความเสื่อมทางจริยธรรมและสิ่งแวดล้อม สำนักงานช่วยเหลือรัฐสมาชิกในการวางแผนการศึกษา การบริการสถานศึกษา ปฏิรูปหลักสูตร กำหนดโครงสร้างใหม่สำหรับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ส่งเสริมการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม การศึกษาด้านประชากรศาสตร์ การป้องกันยาเสพติด โรคเอดส์ และอื่นๆ ซึ่งสมควรต้องให้การศึกษา ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีการวิจัยในเรื่องสารเคมีในผลิตผลธรรมชาติ จุลชีวันไบออสเฟียร์ (แผนงานมนุษย์และไบออสเฟียร์) ส่งเสริมการจัดการและการเรียนการสอนทางวิทยาศาสตร์ โดยผ่านทางเครือข่ายนโยบายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งเอเชีย ทางด้านสังคมศาสตร์ ได้ส่งเสริมความร่วมมือด้านการศึกษาวิจัยของสภาในส่วนภูมิภาคว่าด้วยสังคมศาสตร์ และเครือข่ายสารนิเทศของสังคมศาสตร์ ในด้านวัฒนธรรมมีงานสำคัญๆ เช่น รณรงค์เพื่ออนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมด้านสถาปัตยกรรมโบราณ ตัวอย่างเช่น อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย พุทธสถานโบโรพุทโธ ในอินโดนีเซีย กาฐมาณฑุในเนปาล สามเหลี่ยมทางวัฒนธรรมในศรีลังกา มีแผนงานและโครงการอนุรักษ์และพัฒนาวัฒนธรรมมากมาย โดยเฉพาะในระหว่างทศวรรษแห่งการพัฒนาวัฒนธรรมแห่งโลก (World Decade for Cultural Development 1988-1997) มีโครงการสำคัญๆ เช่น การศึกษาเส้นทางสายไหม ซึ่งเป็นเส้นทางติดต่อสมัยโบราณในด้านการค้าขายและเผยแพร่วัฒนธรรมระหว่างยุโรปกับเอเชีย ในด้านการสื่อสารและการส่งเสริมบริการความรู้ ยูเนสโก ได้สนับสนุนการพัฒนาหนังสือ การพัฒนาห้องสมุดและสถาบันบริการสารนิเทศอื่นๆ เพื่อให้ประชาชนทั่วโลกได้รับรู้ข้อมูลข่าวสาร วิชาการต่างๆ ที่มีการเผยแพร่โดยสิ่งพิมพ์ โสตทัศนวัสดุ วัสดุอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และโดยผ่านสื่อมวลชนอื่นๆ ทุกประเภท ให้ทุกคนในโลกสามารถเข้าถึง รับรู้ และเรียนรู้ข้อมูลข่าวสาร วิชาการต่างๆ ไม่ว่าจะผลิตขึ้น ณ ที่ไหนในโลก สำนักงานใหญ่ภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก ตั้งอยู่ที่ประเทศไทย อาคารดาราคาร เลขที่ ๙๒๐ ถนนสุขุมวิท กรุงเทพมหานคร ๑๐๑๑๐ โทรศัพท์ (๖๖๒) ๓๙๑-๐๕๗๗ โทรสาร (๖๖๒) ๓๙๑-๐๘๖๖

สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ : ITU

สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ
(International Telecommunication Union : ITU)

เป็นองค์การชำนัญพิเศษของสหประชาชาติ ซึ่งนับเป็นองค์การสากลที่เก่าแก่มากที่สุดอันดับสอง ที่ยังคงดำเนินการอยู่ โดยในระยะแรกเริ่ม ใช้ชื่อว่า สหภาพโทรเลขระหว่างประเทศ (อังกฤษ: International Telegraph Union) จัดตั้งขึ้นที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม ค.ศ. 1865 (พ.ศ. 2408) ปัจจุบัน มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ นครเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ใกล้กับสำนักงานสหประชาชาติ
สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ มีหน้าที่ในการพัฒนามาตรฐาน และกฎระเบียบ สำหรับการสื่อสารวิทยุและโทรคมนาคมระหว่างประเทศ การกำหนดแถบคลื่นความถี่วิทยุ (อังกฤษ: Allocation of the Radio Spectrum) และบริหารจัดการ กรณีที่จำเป็นสำหรับการเชื่อมโยงโครงข่ายระหว่างประเทศ เช่น บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ อันเป็นภารกิจในเชิงโทรคมนาคม ในลักษณะเดียวกับการปฏิบัติงานของสหภาพสากลไปรษณีย์ ในกรณีของงานบริการไปรษณีย์

องค์ประกอบสหภาพ

สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ จะมีสำนักเลขาธิการใหญ่ ซึ่งมีเลขาธิการ (อังกฤษ: Secretary General) เป็นผู้บริหารสูงสุด ในการบริหารจัดการงานรายวันของสหภาพฯ และภาคส่วนต่างๆ ซึ่งประกอบด้วย
4 ภาคส่วน ในภารกิจด้านต่างๆ ดังนี้
ภาคการสื่อสารวิทยุ (ITU-R, Radiocommunication Sector) - มีหน้าที่บริหารแถบคลื่นความถี่วิทยุระหว่างประเทศ และทรัพยากรต่างๆ สำหรับการโคจรของดาวเทียม ITU-R มีสำนักเลขาธิการเรียกว่า สำนักการสื่อสารวิทยุ (Radiocommunication Bureau, BR) ซึ่งก่อนปี ค.ศ. 1992 เป็นคณะกรรมการที่ปรึกษาการวิทยุระหว่างประเทศ (International Radio Consultative Committee, CCIR)
ภาคการกำหนดมาตรฐานโทรคมนาคม (ITU-T, Telecommunication Standardization Sector) - การกำหนดมาตรฐานโทรคมนาคม เป็นกิจกรรมที่มีมาช้านานของสหภาพฯ และเป็นภารกิจที่รู้จักกันเป็นอย่างดี ในระดับสากล ITU-T มีสำนักเลขาธิการเรียกว่า สำนักมาตรฐานโทรคมนาคม (Telecommunication Standardization Bureau, TSB) ซึ่งก่อนปี ค.ศ. 1992 เป็นคณะกรรมการที่ปรึกษาโทรเลขและโทรศัพท์ระหว่างประเทศ (International Telephone and Telegraph Consultative Committee, CCITT)

ภาคการพัฒนาโทรคมนาคม (ITU-D, Telecommunication Development Sector) - จัดตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1992 เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงสารสนเทศ และเทคโนโลยีสารสนเทศในนานาประเทศ อย่างเท่าเทียม พอเพียง และด้วยค่าใช้จ่ายที่ยอมรับได้ ITU-D มีสำนักเลขาธิการเรียกว่า สำนักพัฒนาโทรคมนาคม (Telecommunication Development Bureau, BDT)
ภาคการจัดงาน ไอทียู เทเลคอม (ITU TELECOM) - เป็นการจัดงานแสดงสินค้า การประชุม และนิทรรศการระหว่างประเทศ โดยนำเทคโนโลยีชั้นนำ จากอุตสาหกรรมไอซีทีมาจัดแสดง รวมทั้งเชิญรัฐมนตรี ผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงาน และผู้กำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมของประเทศต่างๆ มาร่วมการประชุม เพื่อนำเสนอ และอภิปรายปัญหาการสื่อสารในระดับโลกด้วย

สมาชิก
สมาชิกภาพของ สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ มี 3 ประเภท คือ
ประเทศสมาชิก (Member States) ปัจจุบันมีจำนวน 191 ประเทศ
ธุรกิจอุตสาหกรรมด้านโทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ (Sector Members) ปัจจุบันมีจำนวน 572 ราย
สมาคม (Associates) ปัจจุบันมีจำนวน 153 แห่ง

สภาบริหารสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ
สภาบริหารสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU Council) ได้รับการจัดตั้งขึ้น เมื่อปี ค.ศ. 1947 (พ.ศ. 2490) ประกอบด้วยสมาชิก จำนวนไม่เกินร้อยละ 25 ของสมาชิกสหภาพฯ ทั้งหมด ประกอบด้วยสมาชิกไม่เกินร้อยละ 25 ของจำนวนสมาชิกสหภาพฯ ทั้งหมด ซึ่งได้มาโดยวิธีเลือกตั้งจากการประชุมใหญ่ผู้แทนผู้มีอำนาจเต็มของสหภาพฯ โดยให้มีความเสมอภาค ตามจำนวนที่นั่งของสมาชิก ใน 5 ภูมิภาคตามการจัดแบ่งเพื่อการบริหารของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ คือ
ภูมิภาค A - ทวีปอเมริกา
ภูมิภาค B - ทวีปยุโรป ฝั่งตะวันตก
ภูมิภาค C - ทวีปยุโรป ฝั่งตะวันออก
ภูมิภาค D - ทวีปแอฟริกา
ภูมิภาค E - ทวีปเอเชียและทวีปออสเตรเลีย
ปัจจุบัน สภาบริหารสหภาพฯ มีสมาชิกทั้งหมด 46 ประเทศ

สภาบริหารสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ มีบทบาทในการพิจารณาปัญหาต่างๆ เชิงนโยบาย ด้านการสื่อสารโทรคมนาคมระหว่างประเทศ ในช่วงที่ยังไม่ถึง กำหนดการประชุมใหญ่ผู้แทนผู้มีอำนาจเต็มของสหภาพฯ เพื่อให้การดำเนินงาน นโยบาย และยุทธศาสตร์ต่างๆ ของสหภาพฯ สามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ในยุคโลกาภิวัตน์ สภาบริหารนี้ มีหน้าที่จัดทำรายงานเกี่ยวกับนโยบาย และการวางแผนเชิงกลยุทธ์ ให้แก่สหภาพฯ นอกจากนั้น ยังรับผิดชอบในการดำเนินงานประจำวันของสหภาพฯ การประสานโครงการ และการอนุมัติและควบคุมงบประมาณและค่าใช้จ่ายของสหภาพฯ ด้วย
การเป็นสมาชิกของประเทศไทย
ประเทศไทยเริ่มเป็นสมาชิกของ สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ในสมัยที่ใช้ชื่อว่า สหภาพโทรเลขระหว่างประเทศ) ตั้งแต่เมื่อวันที่ 20 เมษายน ค.ศ. 1883 ประเทศไทยได้รับเลือกให้เป็นกรรมการบริหารของ สภาสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ 7 สมัย คือ
ปี ค.ศ. 1973-1977
ปี ค.ศ. 1982-1985
ปี ค.ศ. 1989-1993
ปี ค.ศ. 1994-1997
ปี ค.ศ. 1998-2002
ปี ค.ศ. 2003-2006
ปี ค.ศ. 2007-2010 - กรรมการบริหารในภูมิภาค E (เอเซียและออสเตรเลีย)
การเป็นประเทศสมาชิกของประเทศไทยมีกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเป็นตัวแทนฝ่ายบริหารของประเทศ และมีคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติเป็นตัวแทนฝ่ายกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมของประเทศ

องค์การกิจการทางทะเลระหว่างประเทศ : IMO



องค์การกิจการทางทะเลระหว่างประเทศ

เป็นทบวงการชำนัญพิเศษขององค์การสหประชาชาติ ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2502 โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะเป็นเวทีระหว่างประเทศสมาชิก ในการกำหนดมาตรฐาน และแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับความปลอดภัย ในการเดินเรือ และการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมทางทะเล รวมทั้งเป็นกลไกในการสร้างความร่วมมือทางวิชาการระหว่างประเทศสมาชิก ปัจจุบัน มีสมาชิก 155 ประเทศ สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร "

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ : IMF

ประวัติ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF)

1. ภูมิหลังกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF)

ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2487 จากการประชุม United Nations Monetary and Financial Conference หรือ ที่รู้จักดีในนามของ Bretton Woods Conference โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงวอชิงตัน ดีซี สหรัฐอเมริกา และและมีฐานะเป็นทบวงการชำนัญพิเศษของสหประชาชาติ ข้อตกลงว่าด้วยกองทุนการเงินระหว่างประเทศกำหนดให้กองทุนการเงินฯ ทำหน้าที่สนับสนุนความร่วมมือทางการเงินระหว่างประเทศ สนับสนุนการค้าระหว่างประเทศให้ขยายตัวอย่างสมดุล เสริมสร้างเสถียรภาพในอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ สนับสนุนการจัดตั้งระบบการชำระเงินระหว่างประเทศ และให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ประเทศสมาชิกที่ประสบปัญหาดุลการชำระเงิน

2. บทบาทหลักกองทุนการเงินฯ มีบทบาทหลักในการสอดส่องดูแลเศรษฐกิจ รวมทั้งให้ความช่วยเหลือทางการเงิน และความช่วยเหลือทางวิชาการแก่ประเทศสมาชิก เพื่อให้ระบบการเงินระหว่างประเทศมีเสถียรภาพ
การสอดส่องดูแลเศรษฐกิจ: กองทุนการเงินฯ ติดตามภาวะเศรษฐกิจการเงินของประเทศสมาชิกอย่างใกล้ชิด และมีการประชุมหารือกับประเทศสมาชิกเป็นประจำ(หรือ Article IV Consultation) ซึ่งโดยทั่วไปจะกำหนดจัดประชุมทุกปี โดยเจ้าหน้าที่กองทุนการเงินฯ จะไปเยือนประเทศสมาชิกเพื่อประเมินภาวะและเสถียรภาพเศรษฐกิจของประเทศสมาชิก รวมทั้งให้คำแนะนำนโยบาย ทั้งนี้ กองทุนการเงินฯ จะรวบรวมข้อมูลเศรษฐกิจของแต่ละประเทศสมาชิกเพื่อนำมาประเมินภาวะเศรษฐกิจระดับภูมิภาคและระดับโลก โดยจะเผยแพร่ผลการประเมิน ทุกครึ่งปีในรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (World Economic Outlook) และรายงานเสถียรภาพการเงินโลก (Global Financial Stability Report)

ความช่วยเหลือทางการเงิน: กองทุนการเงินฯ ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ประเทศสมาชิกที่ประสบปัญหาดุลการชำระเงินเพื่อช่วยฟื้นฟูเสถียรภาพและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจผ่านโครงการเงินกู้ (facilities) ประเภทต่างๆ ซึ่งประเทศที่ขอความช่วยเหลือจะต้องดำเนินนโยบายหรือมาตรการต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาดุลการชำระเงินตามที่กำหนดในจดหมายแสดงเจตจำนง (Letter of Intent) เงินทุนของโครงการเงินกู้ของกองทุนการเงินฯ ได้มาจากการชำระเงินค่าโควตาของประเทศสมาชิกเป็นสำคัญ ดังนั้น ความสามารถในการให้กู้ของกองทุนการเงินฯ จึงกำหนดโดยโควตารวมของประเทศสมาชิกเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม กองทุนการเงินฯ สามารถกู้ยืมจากประเทศที่มีฐานะทางการเงินแข็งแกร่งจำนวนหนึ่งภายใต้ความตกลงให้กู้แก่กองทุนการเงินฯ (General Arrangements to Borrow - GAB) และความตกลงให้กู้แก่กองทุนการเงินฯ ฉบับใหม่ (New Arrangements to Borrow - NAB)

ความช่วยเหลือทางวิชาการ: กองทุนการเงินฯ ให้ความช่วยเหลือทางวิชาการแก่ประเทศสมาชิกเพื่อเสริมสร้างศักยภาพของประเทศสมาชิกในการกำหนดและดำเนินนโยบาย 4 ด้านหลัก คือ

1.) นโยบายการเงินและนโยบายสถาบันการเงิน

2.) นโยบายการคลังและการบริหารหนี้สาธารณะ

3.) สถิติข้อมูล

4.) กฎหมายเศรษฐกิจการเงิน

นอกจากนี้ กองทุนการเงินฯ ได้จัดหลักสูตรฝึกอบรมและสัมมนาสำหรับประเทศสมาชิกที่สถาบันฝึกอบรมของกองทุนการเงินฯ ณ กรุงวอชิงตัน ดีซี และสถาบันฝึกอบรมในภูมิภาคต่างๆ (ออสเตรเลีย บราซิล สาธารณรัฐประชาชนจีน อินเดีย สิงคโปร์ ตูนิเซีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรต)

3. โครงสร้างองค์กร
สภาผู้ว่าการกองทุนการเงินฯ ประกอบด้วยผู้ว่าการจากแต่ละประเทศสมาชิก จะประชุมร่วมกันปีละหนึ่งครั้งระหว่างการประชุมประจำปีกองทุนการเงินฯ และธนาคารโลกเพื่อหารือและตัดสินใจนโยบายสำคัญของกองทุนการเงินฯ นอกจากนี้ ยังมี International Monetary and Financial Committee (IMFC) ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 24 ท่านตามองค์ประกอบของคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ โดย IMFC ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาสภาผู้ว่าการ ซึ่งจะพิจารณาและจัดทำข้อเสนอสำหรับประเด็นนโยบายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลระบบการเงินโลก สำหรับคณะกรรมการบริหารและเจ้าหน้าที่กองทุนการเงินฯ จะดูแลการดำเนินกิจการทั่วไปของกองทุนการเงินฯ ตามข้อเสนอของ IMFC ทั้งนี้ กรรมการจัดการกองทุนการเงินฯ จะทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการบริหาร และผู้บริหารสูงสุดของเจ้าหน้าที่กองทุนการเงินฯ
สมาชิกภาพ: จำนวนประเทศสมาชิกของกองทุนการเงินฯ ได้เพิ่มจาก 29 ประเทศเมื่อปี 2488 เป็น 185 ประเทศในปัจจุบัน โดยประเทศสมาชิกล่าสุดคือ ประเทศมอนตินิโกร (Montenegro) ซึ่งเข้าร่วมเป็นสมาชิกกองทุนการเงินฯ เมื่อเดือนมกราคม 2550 ทั้งนี้ ประเทศที่สมัครเป็นสมาชิกกองทุนการเงินฯ จะต้องเป็นสมาชิกขององค์การสหประชาชาติก่อน
โควตา: เมื่อเข้าร่วมเป็นสมาชิกกองทุนการเงินฯ ประเทศสมาชิกจะได้รับจัดสรรจำนวนโควตาในสกุลสิทธิพิเศษถอนเงิน1/ (SDR) ตามขนาดของเศรษฐกิจและความสำคัญของประเทศสมาชิกนั้นๆ เทียบกับเศรษฐกิจโลก ตามปกติกองทุนการเงินฯ จะทำการทบทวนโควตาทุก 5 ปี เพื่อปรับปรุงโควตาของแต่ละประเทศให้เหมาะสมกับฐานะทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งเพื่อเพิ่มทุนดำเนินการของกองทุนการเงินฯ ให้พอเพียงกับความจำเป็น
โควตามีบทบาทสำคัญในการกำหนดสิทธิ และวงเงินกู้ของประเทศสมาชิก กล่าวคือ ประเทศสมาชิกจะได้รับคะแนนเสียงพื้นฐานเท่ากันจำนวน 250 คะแนน และเพิ่มอีกหนึ่งคะแนนเสียงต่อโควตา 100,000 SDR นอกจากนี้ ประเทศสมาชิกสามารถกู้เงินจากกองทุนการเงินฯ ได้ไม่เกินร้อยละ 100 ของจำนวนโควตาต่อปี และรวมกันไม่เกินร้อยละ 300 ของจำนวนโควตา
4. ความสัมพันธ์กับประเทศไทย
ประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกลำดับที่ 44 ของกองทุนการเงินฯ เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2492 โดยมีธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นตัวแทนของประเทศไทยในกองทุนการเงินฯ ตามพ.ร.บ. ให้อำนาจปฏิบัติการเกี่ยวกับกองทุนการเงินและธนาคารระหว่างประเทศ พ.ศ. 2494 รวมทั้งผู้ว่าการและรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยทำหน้าที่เป็นผู้ว่าการและผู้ว่าการสำรองในกองทุนการเงินฯ ตามลำดับ ปัจจุบัน ประเทศไทยมีโควตาเท่ากับ 1,081.9 ล้าน SDR หรือร้อยละ 0.50 ของจำนวนโควตาทั้งหมด เทียบเท่ากับ 11,069 คะแนนเสียง กองทุนการเงินฯ จะประเมินภาวะเศรษฐกิจประเทศไทยเป็นประจำทุกปีภายใต้พันธะข้อ 4 ของข้อตกลงว่าด้วยกองทุนการเงินฯ นอกจากนี้ ประเทศไทยได้ดำเนินการตามพันธะข้อ 8 ของข้อตกลงว่าด้วยกองทุนการเงินฯ โดยยกเลิกการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมการค้า แล้วตั้งแต่วันที่ 4 พฤษภาคม 2533 ล่าสุด ประเทศไทยได้เข้าร่วมรับการประเมินเสถียรภาพภาคการเงินภายใต้กรอบ Financial Sector Assessment Program2/ (FSAP) เมื่อปี 2550 ประเทศไทยเคยได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจากกองทุนการเงินฯ ภายใต้โครงการเงินกู้ Stand-by3/ รวม 5 ครั้งในวงเงินรวมทั้งสิ้น 4,431 ล้าน SDR โดยครั้งแรกเมื่อเดือนกรกฎาคม 2521 จำนวนเงิน 45.25 ล้าน SDR ครั้งที่สองเมื่อเดือนมิถุนายน 2524 จำนวน 814.5 ล้าน SDR (แต่เบิกถอนจริงจำนวน 345 ล้าน SDR) ครั้งที่สามเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2525 จำนวน 271.5 ล้าน SDR

ครั้งที่สี่เมื่อเดือนมิถุนายน 2528 จำนวน 400 ล้าน SDR (แต่เบิกถอนจริงจำนวน 260 ล้าน SDR) และครั้งล่าสุดเมื่อเดือนสิงหาคม 2540 จำนวน 2,900 ล้าน SDR (แต่เบิกถอนจริงจำนวน 2,500 ล้าน SDR) ประเทศไทยได้ชำระคืนเงินกู้จากกองทุนการเงินฯ เสร็จสิ้นแล้วเมื่อเดือนกรกฎาคม 2546 ซึ่งเป็นการชำระคืนก่อนกำหนดเดิมถึง 2 ปีทำให้ปัจจุบันประเทศไทยไม่มีภาระคงค้างกับกองทุนการเงินฯ อนึ่ง ปัจจุบัน ประเทศไทยยังได้ร่วมเป็นภาคีความตกลงให้กู้แก่กองทุนการเงินฯ ฉบับใหม่ (New Arrangements to Borrow - NAB) โดยอาจให้กองทุนการเงินฯ กู้ยืมเงินไม่เกิน 340 ล้าน SDR ในกรณีที่กองทุนการเงินฯ ขาดสภาพคล่อง

วัตถุประสงค์

วัตถุประสงค์และหน้าที่วัตถุประสงค์ของการก่อตั้ง IMF คือ จัดการและควบคุมระบบการเงินของโลกและช่วยเหลือประเทศที่เผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจ โดยจะประสานการทำงานกับกระทรวงการคลัง และแบงก์ชาติของแต่ละประเทศ หน้าที่หลักของ IMF มีอยู่ 3 ประการคือ
1.จัดระบบการเงินโลก
2. กำกับกติการทางเศรษฐกิจของโลก เพื่อให้เกิดความมั่นคงมีเสถียรภาพ
3. สร้างเงินซึ่งเป็นเงินสำรองระหว่างประเทศ เป็นเงินที่เป็นกลาง ไม่ได้เป็นเงินของประเทศใดประเทศหนึ่ง
และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund - IMF) ก่อตั้งขึ้นในระหว่างปี พ.ศ. 2487-2489 เพื่อเป็นแหล่งเงินกู้สำหรับการฟื้นฟูบูรณะและพัฒนาประเทศต่าง ๆ ภายหลัง ประสบปัญหามากมายจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ปัจจุบันมุ่งให้ความช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนา ประเทศด้อยพัฒนา และประเทศที่ยากจน เพื่อยกระดับฐานะความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น โดยสถาบันทั้งสองจัดให้มีการประชุมระหว่างสมาชิกปีละครั้ง ซึ่งกำหนดให้จัดที่กรุงวอชิงตันติดต่อกัน 2 ปีสลับกับจัดประชุมในประเทศสมาชิก 1 ปี

ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นสมาชิก

เมื่อ พ.ศ. 2492 เป็นสมาชิกลำดับที่ 48 ได้รับความช่วยเหลือจากธนาคารโลกและกองทุนเงินระหว่างประเทศเป็นครั้งคราว เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจและพัฒนาสังคมในส่วนต่างๆ เช่น การเกษตร การชลประทาน การศึกษา การสาธารณสุข และอื่น ๆ ประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งที่ 46 ระหว่างวันที่ 15-17 ตุลาคม พ.ศ. 2534 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติ
ในการจัดตั้งกองทุนการเงินระหว่างประเทศนั้นก็เพื่อดูแลเสถียรภาพของระบบการเงินระหว่างประเทศซึ่งจะส่งผลต่อการขยายตัวของการค้าโลก และป้องกันมิให้มีการลดอัตราการแลกเปลี่ยนเงินตราเพื่อให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบทางการค้า รวมไปถึงมุ่งจัดตั้ระบบการชำระเงินที่เหมาะสมเพื่ออำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมทางการค้าระหว่างประเทศ โดยสมาชิกของกองทุนการเงินระหว่างประเทศประกอบไปด้วยประเทศที่มีความสำคัญทางการเงินเป็นผู้แทนถาวร 5 ประเทศ คือ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น อังกฤษ เยอรมัน ฝรั่งเศส และผู้แทนประเทศสมาชิกอื่นๆอีก 15 ประเทศ ซึ่งประเทศสมาชิกเหล่านี้ต้องชำระเงินอุดหนุนหรือเงินค่าโควตาในรูปของหุ้นจำนวนหนึ่งให้กับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ และเงินส่วนนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของเงินทุนหรือทรัพยากร(resources)ของ IMFที่นำไปใช้ในการให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศสมาชิกที่มีปัญหาดุลการชำระเงินภายใต้โครงการเงินกู้ (facility)

หลักการทั่วไปและวัตถุประสงค์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศมีดังต่อไปนี้คือ
1.รักษาอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราให้มีเสถียรภาพและความแน่นอน รวมทั้ง ป้องกันการแข่งขันการลดค่าเงิน(competitive devaluation)เพื่อชิงการได้เปรียบทางการค้า
2.ลดหรือขจัดอุปสรรดทั้งปวงเพื่อการแลกเปลี่ยนเงินตราอย่างเสรี
3.สนับสนุนความร่วมมือทางการเงินระหว่างประเทศและเป็นเวทีการหารือและร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อแก้ไขปัญหาการเงินระหว่างประเทศ
4.สนับสนุนให้การค้าระหว่างประเทศขยายตัวอย่างสมดุลเพื่อส่งเสริมให้เกิดการจ่างงาน รายได้ ตลอดจนพัฒนาการทางการผลิตในระดับสูง
5.ลดความไม่สมดุลในดุลการชำระเงินระหว่างประเทศของประเทศสมาชิก โดยให้ความสนับสนุนทางด้านการเงินแก่ประเทศสมาชิกเพื่อปรับฐานะดุลการชำระเงินให้ดีขึ้น
เมื่อพิจารณาหลักการและวัตถุประสงค์ของ IMFจึงเห็นได้ว่า IMFมีบทบาทต่อกฎหมายเศรษฐกิจระหว่างประเทศในฐานะองค์การที่วางกฎเกณฑ์ข้อบังคับทางการเงินและทำหน้าที่จัดการระบบเงินตราระหว่างประเทศ ซึ่งเงินนั้นถือเป็นสิ่งที่มีความสำคัญที่สุดในการทำธุรกรรมโดยเป็นเครื่องมือสนับสนุนและอำนวยความสะดวกในการชำระหนี้ทางการค้าระหว่างกัน แม้ศาลสถิตย์ยุติธรรมระหว่างประเทศ จะได้ให้หลักการยืนยันไว้ในคำพิพากษาคดีPayment of various Serbian loans ว่ารัฐย่อมมีอธิปไตยในการดำเนินนโยบายด้านการเงินของตนเอง สามารถกำหนดค่าของสกุลเงินของตนตลอดจนการวางข้อบังคับเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของเงินตรา ซึ่งถือเป็นอำนาจอธิปไตยทางการเงินและกิจการภายในของรัฐ แต่เมื่อพิจารณาถึงสภาพสังคมระหว่างประเทศในปัจจุบัน เราจะเห็นได้ว่ามีการติดต่อสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจแลกเเปลี่ยนสินค้าและบริการกันอย่างกว้างขวาง ดังนั้นในการดำเนินความสัมพันธ์ทางการค้าย่อมต้องอาศัยกฎเกณฑ์ที่เป็นที่ยอมรับร่วมกันระหว่างคู่สัญญา และในระบบเงินตราย่อมต้องมีการกำหนดสกุลเงินเพื่อเป็นเงินตราสกุลหลักในการอ้างอิงเพื่อการทำการค้าระหว่างกัน ไม่เช่นนั้นย่อมมีปัญหาในการทำการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากในการทำการค้านั้นคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งมีฐานะทางเศรษฐกิจที่ด้อยกว่า เช่น อาจถูกตั้งข้อจำกัดทางการค้าและการชำระเงิน IMFจึงเป็นองด์การระหว่างประเทศที่เข้ามาช่วยกำหนดกฎเกณฑ์ทางการเงิน ให้ความช่วยเหลือและปรับดุลยภาพทางเศรษฐกิจให้แก่รัฐสมาชิก
การดำเนินการให้ความช่วยเหลือแก่รัฐสมาชิกที่ตกอยู่ในสภาวะวิกฤติอันเนื่องมาจากการขาดดุลการชำระเงินนั้น IMFเป็นแหล่งที่มาในการให้เงินช่วยเหลือ โดย IMFได้กำหนดให้ประเทศสมาชิกฝากสินทรัพย์ไว้จำนวนหนึ่งซึ่งจะเป็นจำนวนเท่าใดขึ้นอยู่กับโควตาที่ตกลงกันและเมื่อรัฐสมาชิกประสบปัญหารัฐสมาชิกก็สามารถใช้ประโยชน์จากกองทุนของIMFนั่นเอง การให้ความช่วยเหลือของIMFนั้นรัฐสมาชิกมีสิทธิได้รับความช่วยเหลือโดยผ่านกระบวนการ การถอนเงินซึ่งจำกัดอยู่ภายในวงเงินที่ตนมีสิทธิตามสัดส่วนของเงินอุดหนุน และการทำข้อตกลงใน
เรื่องเกี่ยวกับการถอนเงิน ( Stand-by arranment )หรือที่เรียกว่าโครงการเงินกู้ Stand-by ซึ่งเป็นโครงการเงินกู้ที่มีเงื่อนไขของโครงการในการปฏิบัติตาม performance criteria
ระบบที่สำคัญอีกประการหนึ่งซึ่งIMFจัดตั้งขึ้นก็คือระบบสิทธิถอนเงินพิเศษ (Special Drawing Rights) หรือ SDR SDRนี้เป็นสินเชื่ออย่างหนึ่งโดยมีลักษณะเป็นหน่วยในทางบัญชี คือมีแค่ตัวเลขปรากฎอยู่ในบัญชี สิทธิพิเศษในการถอนเงิน SDRนี้ IMF กำหนดวิธีการในการใช้ที่ขึ้นอยู่กับสัดส่วนของเงินอุดหนุนที่รัฐส่งมา กล่าวคือหากรัฐส่งเงินอุดหนุนมากก็จะได้รับจัดสรรสิทธิถอนเงินพิเศษนี้มาก ทั้งนี้เพื่อให้รัฐนำเงินที่ได้รับจัดสรรมาใช้แก้ไขสถานการณ์การขาดดุลการชำระเงิน
ความสัมพันธ์ระหว่างกองทุนการเงินระหว่างประเทศกับประเทศไทยนั้นประเทศไทยในฐานะรัฐสมาชิกเคยได้รับความช่วยเหลือตามโครงการเงินกู้Stand-by รวม 5 ครั้งด้วยกันในวงเงินรวมทั้งสิ้น 4,431ล้านSDR ในปัจจุบันประเทศไทยมีโควตาเท่ากับ 1,081.9 ล้านSDR คะแนนเสียง 11,069 คะแนน หรือเทียบเท่ากับร้อยละ0.52 ของคะแนนเสียงทั้งสิ้น

การเข้ามาเป็นสมาชิก IMF ของประเทศไทย
ประเทศไทยเป็นสมาชิก IMF เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2492 เป็นสมาชิกลำดับที่ 44 โดยมีโควตาปัจจุบันเท่ากับ 1,081.9 ล้าน SDR คะแนนเสียง 11,069 คะแนน หรือเทียบเท่ากับร้อยละ 0.52 ของคะแนนเสียงทั้งสิ้น นับตั้งแต่เป็นสมาชิก IMF ประเทศไทยเคยได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจาก IMF ตามโครงการเงินกู้ Stand-by รวม 5 ครั้งด้วยกันในวงเงินรวมทั้งสิ้น 4,431 ล้าน SDR โดยเข้าโครงการ Stand-by 1 ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2521 จำนวนเงิน 45.25 ล้าน SDR 2-4 ต่อมาในช่วงที่ไทยประสบปัญหาภาวะเศรษฐกิจตกต่ำหลังวิกฤตการณ์น้ำมันครั้งที่ 2 ระหว่าง พ.ศ. 2524 -2529 ประเทศไทยได้เข้าโครงการ Stand-by 3 ครั้ง รับจำนวนเงินทั้งหมด 1,486 ล้าน SDR 5 ล่าสุดเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2540 ไทยได้รับความช่วยเหลือจาก IMF เพื่อใช้แก้ไขวิกฤตการณ์ทางการเงินเป็นวงเงินทั้งสิ้น 2,900 ล้าน SDRตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ ๒ การแสวงหาแหล่งวัตถุดิบเพื่อป้อนโรงงานอุตสาหกรรมของประเทศมหาอำนาจ เช่น อังกฤษ เยอรมัน ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ฯลฯ ด้วยกำลังทหาร และอาวุธยุทโธปกรณ์ได้ลดลงอย่างมาก และเปลี่ยนแนวมาเป็นการรุกโดยอาศัยแนวทางด้านเศรษฐกิจและวัฒนธรรม แม้ในช่วงแรกจะแบ่งเป็น ๒ ฝ่าย คือ ฝ่ายสหรัฐอเมริกาซึ่งเรียกว่าฝ่ายโลกเสรีหรือฝ่ายทุนนิยม โดยมีสัมพันธภาพกับประเทศต่างๆ จำนวนมาก เช่น ญี่ปุ่น เยอรมัน อังกฤษ ฝรั่งเศส ประเทศแถบลาตินอเมริกา แถบตะวันออกกลาง รวมถึงในแถบเอเซีย ยกเว้นประเทศเวียดนาม พม่า และอีกฝ่ายหนึ่งคือ สหภาพโซเวียต ซึ่งเรียกว่าฝ่ายสังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์ โดยประกอบด้วยประเทศที่มีการปกครองในระบอบสังคมนิยมเหมือนกัน เช่น ประเทศในกลุ่มยุโรปตะวันออก คือ เยอรมันตะวันออก เชคโกสโลวาเกีย โรมาเนีย โปแลนด์ ฯลฯ ประเทศในกลุ่มลาตินอเมริกาบางประเทศ เช่น คิวบา และเนื่องจากสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตได้แข่งขันกันสะสมอาวุธต่างๆ โดยเฉพาะระเบิดนิวเคลียร์ จึงเรียกบรรยากาศในยุคนี้ว่า “สงครามเย็น” ประเทศในกลุ่มโลกเสรีหรือทุนนิยมแตกต่างจากกลุ่มสังคมนิยม คือเอกชนสามารถเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต ทำให้เกิดการแข่งขันในการผลิตและสะสมทุน ผลทำให้การพัฒนาประเทศในกลุ่มทุนนิยมเป็นไปอย่างรวดเร็ว และเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในกลุ่มสังคมนิยมแล้วจะเห็นความแตกต่างได้อย่างชัดเจน ประเทศไทยก็เป็นประเทศหนึ่งในฝ่ายทุนนิยม และมีสัมพันธภาพอันดีกับสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่นๆ ในกลุ่มทุนนิยมเช่นเดียวกัน ประเทศไทยได้วางแผนการพัฒนาประเทศโดยเน้นให้ความสำคัญในด้านอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ ตั้งแต่เริ่มแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ ๑ ซึ่งเริ่มในปี พ.ศ. ๒๕๐๔ จึงจำเป็นต้องนำเข้าเทคโนโลยี เครื่องจักร รวมทั้งวัตถุดิบ ซึ่งต้องใช้ทุนเป็นจำนวนมาก แต่ในขณะเดียวกันการสะสมเงินออมในประเทศมีไม่เพียงพอต่อการขยายตัวภาคอุตสาหกรรม จึงจำเป็นต้องอาศัยเงินทุนจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก การพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจของประเทศช่วงระหว่าง พ.ศ. ๒๕๐๔-๒๕๓๘ ก็พัฒนาได้ค่อนข้างจะต่อเนื่อง แต่การกระจายรายได้อย่างไม่เสมอภาคก่อให้เกิดช่องว่างระหว่างชนชั้น ซึ่งแม้กระนั้นประเทศไทยก็ยังยึดแนวทางในระบบทุนนิยมอย่างต่อเนื่องตลอดมา สำหรับการพัฒนาก็โดยอาศัยทุนจากต่างประเทศ และนำเข้าเทคโนโลยีต่างๆ การเติบโตของภาคอุตสาหกรรมเป็นไปอย่างต่อเนื่องในอัตราที่สูง การระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์ก็เติบโตในอัตราสูงเช่นกัน จนทำให้ไทยได้รับการขนานนามว่าเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ (NICs) และเป็นเสือตัวที่ ๕ ของเอเชีย ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๓๑-๒๕๓๔ รัฐบาลได้พยายามเปิดเสรีทางการค้า ชักชวนให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้โดยมีการระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์ และการเปิดให้มีสัมปทานสาธารณูปโภคต่าง ๆ ส่งผลให้มีเงินไหลเข้ามาประเทศไทยจำนวนมากอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ต่อมารัฐบาลก็ได้พยายามที่จะทำให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางทางการเงินในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ จึงได้มีมาตรการผ่อนคลายการควบคุมการแลกเปลี่ยนทางการเงินในวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๔ มีผลทำให้กระแสเงินตราต่างประเทศไหลเข้าออกในปริมาณที่มากขึ้น และผลักดันให้ระบบธนาคารพาณิชย์ของไทยมีมาตรฐานสากล โดยให้ธนาคารดำรงเงินกองทุนตามมาตรฐาน BIS (Bank for International Settlemtents) และในวันที่ ๑๖ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๕ รัฐบาลก็ได้ออกประกาศให้ธนาคารพาณิชย์ยื่นขออนุญาตเพื่อประกอบกิจการวิเทศธนกิจ BIBFs (Bangkok International Banking Facilities)

องค์การแรงงานระหว่างประเทศ : ILO

องค์การแรงงานระหว่างประเทศ-ไอแอลโอ
(International Labour Organization-ILO)


ตั้งขึ้นตั้งแต่ยังไม่มีองค์การสหประชาชาติ คือ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๒ (ค.ศ. ๑๙๑๙) เป็นองค์การชำนัญเฉพาะเรื่อง องค์การแรกที่เข้าอยู่ในเครือสหประชาชาติ คือ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๙ (ค.ศ. ๑๙๔๖) องค์การนี้มีอายุได้ ๗๗ ปี ใน พ.ศ. ๒๕๓๙ ในบรรดารัฐสมาชิกสหประชาชาติที่นับว่าเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้ง มีประเทศไทยรวมอยู่ด้วย ประเทศอื่นในภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก ได้แก่ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น และนิวซีแลนด์

ภารกิจหลักของ ไอแอลโอ คือช่วยเหลือผู้ใช้แรงงานทั่วโลกให้ได้รับความยุติธรรมจากสังคม ให้มีชีวิต และสภาพการทำงานที่ดีขึ้น ผลงานขององค์การทำให้ได้รับรางวัลโนเบล เพื่อสันติภาพ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๒ (ค.ศ. ๑๙๖๙) ทั้งนี้โดยที่องค์การยึดมั่นในหลักการที่ว่า สันติสุขแห่งโลกจะเกิดขึ้นได้และมีความต่อเนื่องมั่นคงก็ด้วยการที่มีความยุติธรรมในสังคม มีฐานรากคือ ความเคารพในสิทธิมนุษยชน มีมาตรฐานความเป็นอยู่ที่ดี มีสภาพการทำงานซึ่งเกื้อกูลความผาสุกของผู้ใช้แรงงาน การมีโอกาสทำงานและมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ

ยุทธศาสตร์การปฏิบัติงานของไอแอลโอ คือ จัดให้มีการเจรจาร่วมของผู้เกี่ยวข้องสามฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายนายจ้าง และฝ่ายแรงงาน ในกรณีที่มีความขัดแย้งและพยายามแก้ไขปัญหาร่วมกันโดยมีมติเป็นเอกฉันท์ ภารกิจขององค์การนี้ในภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิกมีความหลากหลายและยุ่งยาก เพราะประเทศต่างๆ มีสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่แตกต่างกัน ทั้งในด้านการพัฒนาอุตสาหกรรม โครงสร้าง รายได้และสวัสดิการสังคม การพาณิชย์ การลงทุน แรงงาน ปัญหาด้านสังคมและแรงงาน ความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วด้านเศรษฐกิจและสังคม ในประเทศที่เริ่มเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม ก็ได้นำมาซึ่งปัญหาใหม่ๆ อีกมากมาย

ไอแอลโอ จัดลำดับเรื่องสำคัญรีบด่วนไว้สามประการ คือ

๑) การจัดให้มีงานทำและขจัดความยากจน

๒) การคุ้มครองผู้ใช้แรงงาน

๓) ส่งเสริมประชาธิปไตยและสิทธิแห่งมนุษยชน

ในข้อแรกไอแอลโอ ช่วยเหลือประเทศต่างๆ ในการฝึกอบรมผู้ใช้แรงงานให้มีประสิทธิภาพ ในข้อที่สอง ไอแอลโอ ช่วยประเทศต่างๆ ให้เพิ่มพูนประสิทธิภาพในการคุ้มครองผู้ใช้แรงงานให้ได้รับความปลอดภัย และให้ตระหนักถึงภัยที่เกิดจากการทำงานในโรงงาน ในข้อที่สามไอแอลโอช่วยเหลือในการออกกฎหมายเกี่ยวกับแรงงาน และอุตสาหกรรมสัมพันธ์ระหว่างแรงงานกับนายจ้าง สนับสนุนองค์การของผู้ใช้แรงงาน ได้กำหนดมาตรฐานสากลเกี่ยวกับแรงงาน ซึ่งช่วยในการสร้างเสริมประชาธิปไตยและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน

องค์การไอแอลโอ มีสำนักงานภูมิภาคและสำนักงานประจำประเทศหลายแห่งในภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก ให้ความช่วยเหลือทางด้านวิชาการ จัดการฝึกอบรม ทำการศึกษาวิจัย เพื่อส่งเสริมสัมพันธภาพระหว่างรัฐบาล แรงงานและนายจ้าง ในระดับประเทศ สำนักงานภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร ตู้ไปรษณีย์ ๑๗๕๙ กรุงเทพมหานคร ๑๐๕๐๑โทรศัพท์ (๖๖๒) ๒๘๒-๙๑๖๔, ๒๘๘-๑๗๑๐,๒๘๘-๑๗๕๕ โทรสาร (๖๖๒) ๒๘๑-๑๔๙๖

วันพฤหัสบดีที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

บรรษัทการเงินระหว่างประเทศ : IFC


บรรษัทการเงินระหว่างประเทศ
(International Finance Coporation)

มีความเกี่ยวเนื่องกับธนาคารโลก มีวัตถุประสงค์ที่จะส่งเสริมการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ โดย มีหน้าที่ให้ความช่วยเหลือและสนับสนุน แก่ วิสาหกิจเอกชน ของประเทศสมาชิกซึ่งกำลังพัฒนาตนเอง เพื่อให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจ มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ประเทศสหรัฐอเมริกา

สมาคมพัฒนาการระหว่างประเทศ : IDA

สมาคมพัฒนาการระหว่างประเทศ

สมาคมพัฒนาการระหว่างประเทศ

(International Development Association)


สมาคมนี้เป็นสาขาหนึ่งของธนาคารระหว่างประเทศเพื่อการบูรณะและพัฒนาเช่นเดียวกับบรรษัทการเงินระหว่างประเทศ แต่ให้บริการเงินกู้ระยะยาวและดอกเบี้ยต่ำ เพื่อใช้ในการดำเนินการโครงการพัฒนาที่สำคัญๆของประเทศกำลังพัฒนา รวมทั้งโครงการศึกษาและสาธารณสุข เพื่อให้ฐานะเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาต่างๆมั่นคงยิ่งขึ้น มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ประเทศสหรัฐอเมริกา

องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ : ICAO

องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ

องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ -ไอซีเอโอ (International Aviation Organization -ICAO)


ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๗ (ค.ศ. ๑๙๔๔) มีวัตถุประสงค์ในการดูแลให้การบินพลเรือนปลอดภัย มีประสิทธิภาพ ประหยัด และเพิ่มพูนเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ทั่วโลก มีภารกิจเกี่ยวกับทุกเรื่องด้านการบินพลเรือน ทางด้านเทคนิค เศรษฐกิจ และกฎหมาย ได้กำหนดมาตรฐานการปฏิบัติทางด้านการบินพลเรือนซึ่งประเทศสมาชิกทุกประเทศยอมรับและปฏิบัติตามสำนักงานภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิกย้ายจากเดิมมาตั้งอยู่ ณ กรุงเทพมหานคร เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๘ (ค.ศ. ๑๙๕๕) องค์การนี้ช่วยเหลือรัฐสมาชิกทางด้านเทคนิค เช่น บริการจราจรทางอากาศ การค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติภัยทางอากาศ การกำหนดเส้นทางอากาศและความช่วยเหลือด้านภาคพื้นดิน ฝึกอบรมบุคลากร บริการข้อมูลเกี่ยวกับภาวะอากาศ จัดการประชุมและสัมมนาเพื่อการปรับปรุงประสิทธิภาพของการบิน และความปลอดภัย ในระยะเวลา ๕๐ ปีที่ผ่านมาเห็นชัดว่าอุตสาหกรรมเครื่องบินและการบินพาณิชย์ได้ก้าวหน้าไปอย่างมหาศาล

เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๙ ผู้โดยสารเครื่องบินมีจำนวน ๙ ล้านคน ปัจจุบันมีจำนวนถึงหนึ่งล้านล้านคนต่อปี ประมาณว่าเมื่อสิ้นทศวรรษนี้ จะมีผู้โดยสารถึงสองล้านล้านคน อัตราอุบัติภัยทางอากาศที่เคยมีแต่เดิมคือ ๓.๑๒ ต่อร้อยล้านกิโลเมตรการบินลดลงเหลือเพียง ๐.๐๕ ทำให้การเดินทางโดยทางอากาศเป็นการเดินทางที่ปลอดภัยมากที่สุดในขณะนี้ ในขณะเดียวกันเทคโนโลยีทางการบินก็ก้าวหน้าไปอย่างมหาศาลทั้งในด้านเครื่องยนต์และตัวลำเครื่อง ซึ่งสามารถรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้นอย่างมากสำนักงานภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิกตั้งอยู่ที่สามแยกลาดพร้าว ตู้ไปรษณีย์ ๑๑ กรุงเทพมหานคร ๑๐๙๐๑ โทรศัพท์ (๖๖๒) ๕๓๗-๘๑๘๙ โทรสาร (๖๖๒) ๕๓๗-๘๑๙๙

องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ : FAO

องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ

องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ เอฟเอโอ (Food and Agriculture Organization of the United Nations-FAO)


ความอดอยากหิวโหยและขาดแคลนอาหารซึ่งเป็นผลกระทบของสงครามโลกครั้งที่ ๒ ทำให้ประเทศต่างๆ ๔๔ ประเทศร่วมกันจัดตั้งองค์การอาหารและเกษตร เมื่อวันที่ ๑๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ (ค.ศ. ๑๙๔๕) เป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ก่อนการลงนามให้สัตยาบรรณในกฎบัตรสหประชาชาติ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๒ (ค.ศ. ๑๙๗๙) เป็นต้นมา องค์การได้กำหนดวันที่ ๑๖ ตุลาคม ให้เป็นวันอาหารแห่งโลก (World Food Day) ในปัจจุบันรัฐสมาชิกของเอฟเอโอ มีอยู่ ๑๖๒ ประเทศ


ภารกิจหลักของเอฟเอโอ คือ ยกระดับโภชนาการและมาตรฐานความเป็นอยู่ของประชากรโลก ปรับปรุงสมรรถนะของการผลิตและการกระจายผลิตผลจากการเกษตร การทำไร่นา ป่าไม้ และการประมง ส่งเสริมการพัฒนาชนบท ปรับปรุงความเป็นอยู่ของชาวชนบท ซึ่งล้วนเป็นทางนำไปสู่การขจัดความหิวโหย กิจกรรมที่นำไปสู่ผลสำเร็จตามความมุ่งหมาย ได้แก่ การส่งเสริมการลงทุนในการเกษตร ปรับปรุงคุณภาพดิน และจัดการเกี่ยวกับแหล่งน้ำ เพิ่มพูนผลิตผลด้านการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ ถ่ายทอดความรู้ด้านเทคโนโลยีการเกษตรและอาหาร ส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ส่งเสริมการใช้ปุ๋ยและยาฆ่าแมลงให้ถูกต้องตามหลักวิชา ขจัดโรคระบาดในสัตว์ พัฒนาการประมงน้ำจืด และน้ำเค็ม แสวงหาแหล่งพลังงานซึ่งใช้หมุนเวียนได้ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรป่าไม้โดยประหยัด และมีการปลูกป่าทดแทน นอกจากนี้ยังให้ความช่วยเหลือทางวิชาการแก่โภชนาการ การปฏิรูปการเกษตร วิศวกรรมการเกษตร การสื่อสารเพื่อพัฒนาการเกษตร การใช้ดาวเทียมเพื่อรวบรวมข้อมูลทรัพยากรธรรมชาติ และการป้องกันน้ำท่วม


เอฟเอโอ เป็นองค์การแรกของสหประชาชาติที่มาตั้งสำนักงานภาคพื้นในประเทศไทย เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๒ (ค.ศ. ๑๙๔๙) เพราะภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิกเป็นแหล่งที่ชาวชนบทถึงร้อยละ ๗๐ มีที่ดินเพื่อการเกษตรเพียงร้อยละ ๒๗ จำนวนประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว พร้อมๆ กับการแผ่ขยายของความอดอยากยากจน ที่ดินเสื่อมโทรมมีการตัดไม้ทำลายป่าอย่างมาก และมีมลพิษในน้ำทะเล และอื่นๆ ซึ่งล้วนเป็นเหตุผลที่จำต้องดำเนินการแก้ไขโดยรีบด่วน สำนักงานภาคพื้นมีแผนการที่ดำเนินการช่วยเหลือประเทศไทยโดยเฉพาะ องค์การนี้ได้ดำเนินการโครงการช่วยเหลือการพัฒนาในประเทศต่างๆ ในเอเชียและแปซิฟิกกว่า ๕๐๐ โครงการ เช่น การฟื้นฟูป่า การควบคุมผลิตผลมิให้สูญเสีย การชลประทาน การปราบศัตรูพืช บำรุงเมล็ดพันธุ์ การใช้ปุ๋ยที่ถูกต้อง และการปฏิรูปด้านเกษตรทำงาน โดยร่วมมือกับองค์การอื่นๆ เช่น ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียและธนาคารโลก


สำนักงานภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิกตั้งอยู่ที่อาคารมะลิวัลย์ เลขที่ ๓๙ ถนนพระอาทิตย์กรุงเทพมหานคร ๑๐๒๐๐ โทรศัพท์ (๖๖๒) ๒๘๑-๗๘๔๔ โทรสาร (๖๖๒) ๒๘๐-๐๔๔๕





ธนาคารระหว่างประเทศเพื่อการบูรณะและพัฒนา : IBRD

ธนาคารระหว่างประเทศเพื่อการบูรณะและพัฒนา

(The International Bank for Reconstruction and Development :IBRD)


ธนาคารโลก (World Bank) หรือ ธนาคารเพื่อการบูรณะและพัฒนาระหว่างประเทศ (International Bank for Reconstruction and Development, IBRD) เป็นองค์กรระหว่างประเทศที่ได้จัดตั้งขึ้นมาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยประเทศมหาอำนาจในอเมริกาเหนือและยุโรป มีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยให้ประเทศสมาชิกได้ทำการฟื้นฟูประเทศหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยมุ่งเน้นการลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและเร่งรัดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เป็นองค์กรอยู่ในสังกัดขององค์การสหประชาชาติ(United Nation) สำนักงานใหญ่ตั้ง ที่กรุงวอชิงตัน ดีซี ประเทศสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันมีประเทศสมาชิกประมาณ 154 ประเทศ เงินทุนขอธนาคารโลกได้มาจากการจำหน่ายพันธบัตรในตลาดการเงินสำคัญของโลก ค่าบำรุงจากประเทศสมาชิก และเงินค่าหุ้นของประเทศสมาชิก


วัตถุประสงค์ การดำเนินงานของธนาคารโลก มีดังนี้


1.) เพื่อฟื้นฟูบูรณะและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศสมาชิก โดยการให้กู้ยืมเงินระยะยาวในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการลงทุนต่างๆ


2.) เพื่อส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศของภาคเอกชนธนาคารโลกจะช่วยเหลือส่งเสริมโดยเป็นผู้ค้ำประกันการลงทุน หรือร่วมกับองค์กรอื่น ในการกู้ยืมของเอกชน


3.) เพื่อส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศให้ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง



หลักการพิจารณาเงินกู้แก่ประเทศสมาชิก


ก่อนที่จะให้เงินกู้ธนาคารโลกจะศึกษาระบบเศรษฐกิจของประเทสสมาชิกเสียก่อนเพื่อพิจารณาโครงการที่มีความสำคัญอันดับสูง หากประเทศสมาชิกมีปัญหาในการจัดหาและเตรียมโครงการที่เหมาะสมธนาคารจะส่งผู้เชี่ยวชาญไปให้ความช่วยเหลือ โดยจะส่งผู้แทนออกไปสำรวจและวิเคราะห์เศรษฐกิจของประเทศสมาชิกอย่างสม่ำเสมอ หลังจากมีการเสนอโครงการอย่งเป็นทางการและธนาคารโลกได้พิจารณารายละเอียดทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ และ การเงิน ธนาคารโลกอาจมีการปรับปรุงแก้ไขโครงการเพื่อลดค่าใช้จ่ายเพิ่มประสิทธิภาพ ปรับปรุงระบบบริหารงานเพิ่มหรือลดขนาดของโครงการให้เหมาะสม


ประวัติการก่อตั้ง


จากการประชุมของกลุ่มประเทศมหาอำนาจ ที่เบร็ตตันวูดส์
รัฐนิวแฮมเซียร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2487 ในการประชุมครั้งนี้ได้มีการร่างกฎบัตรขึ้นมาสองฉบับเพื่อจัดตั้งธนาคารระหว่างประเทศเพื่อการบูรณะและพัฒนา (International Bank for Reconstruction and Development-IBRD) (ธนาคารโลก) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund-IMF) โดยทั้งสองสถาบันมีการแบ่งความรับผิดชอบกันอย่างชัดเจน กองทุน IMF จะให้การสนับสนุนทางการเงินระยะสั้น เพื่อช่วยประเทศต่าง ๆ แก้ปัญหาดุลการชำระเงินในขณะที่ธนาคารโลกจะให้ทุนสนับสนุนการพัฒนาระยะกลางและระยะยาวในรูปแบบเงินกู้ยืม โครงการพัฒนาที่เน้นเฉพาะเป็นโครงการไป แต่เมื่อเวลาผ่านไปความแตกต่างนี้ก็ลดน้อยลงไปช่วงที่โลกเกิดวิกฤตการณ์การเงินในช่วงปีพ.ศ. 2513 และ 2523 ธนาคารโลกก็เริ่มปล่อยเงินกู้ระยะสั้น เพื่อการปรับปรุงเชิงโครงสร้างประสานกับกองทุนด้วยเช่นกัน
องค์กรทั้งสองนี้มีความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการกับองค์การสหประชาชาติ ผ่านทาง
สภาเศรษฐกิจและสังคม (Economic and Social Council-ECOSOC) ในฐานะหน่วยงานชำนาญการพิเศษ แต่การตัดสินใจในเรื่องการให้เงินกู้อยู่ในอำนาจการพิจารณาของธนาคารโลกเท่านั้น ธนาคารโลกทำงานร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ขององค์การสหประชาชาติหลายหน่วยงาน เช่น องค์การอนามัยโลก (WHO) และโครงการพัฒนาของสหประชาชาติ (UNDP)


ที่ตั้ง


1. สำนักใหญ่ 1818 H Street N.W. Washington, D.C. 20433, U.S.A.
2. สำนักงานใหญ่สาขานิวยอร์ก 1 Dag Hammarskjold Plaza 885 2nd Avenue, 26th Floor New York, N.Y. 10017, U.S.A.
3. สำนักงานใหญ่สาขาปารีส 66 avenue d’Iéna 75116 Paris, France
4.
สำนักงานสาขาประเทศไทย ชั้น 30 อาคารสยามทาวเวอร์ 989 ถนนพระราม 1 เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330

องค์การทรัพย์สินทางปัญญาแห่งโลก : WIPO

องค์การทรัพย์สินทางปัญญาแห่งโลก

องค์การทรัพย์สินทางปัญญาแห่งโลก -ไวโพ

(World Intellectual Property Organization- WIPO) ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๗ (ค.ศ. ๑๙๗๔) มีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาทั่วโลก โดยอาศัยความร่วมมือจากประเทศสมาชิก ซึ่งขณะนี้มีอยู่ ๑๓๕ ประเทศ ทรัพย์สินทางปัญญามีอยู่สองประเภทคือ


๑. ทรัพย์สินที่เป็นผลิตผลด้านอุตสาหกรรม เช่น สิทธิบัตร การประดิษฐ์ เครื่องหมายการค้า และการออกแบบอุตสาหกรรม


๒. ลิขสิทธิ์และสิทธิข้างเคียงในวรรณกรรมและศิลปกรรม รวมสิ่งพิมพ์โสตทัศนวัสดุ รายการทางวิทยุกระจายเสียง และอื่นๆ



องค์การให้ความช่วยเหลือในด้านตรากฎหมายเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญารวบรวมและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ส่งเสริมการประดิษฐ์และสร้างสรรค์ อำนวยความสะดวกในการพัฒนาเทคโนโลยีพื้นเมืองในแต่ละประเทศ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเทคโนโลยีของประเทศอื่นที่มีการจดทะเบียนแล้ว แจ้งให้ทราบถึงงานวรรณกรรมต่างประเทศที่มีลิขสิทธิ์ ให้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับเอกสารสิทธิบัตร จัดฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบเกี่ยวกับเอกสารสิทธิบัตร จัดฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาของชาติในประเทศต่างๆ จัดการประชุมและสัมมนาในระดับประเทศและภูมิภาค สำนักงานขององค์การแห่งโลกว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญา ตั้งอยู่ ณ อาคารเลขที่ ๓๔ ถนนโคลอมเบตตส์ (Chemin Des Colombettes) ๑๒๑๑ เจนีวา ๒๐ สวิตเซอร์แลนด์ โทรศัพท์ (๒๒) ๗๓๐-๙๑๑๑ โทรสาร (๔๑-๔๒) ๗๓๓-๕๔๒๘